About PMQA

ทำไมต้องมี PMQA
หลังจากรับผิดชอบกลุ่มพัฒนาองค์กรมา ๑ ปี ได้มีโอกาสประชุม/อบรมเกี่ยวกับ PMQA มาเป็นระยะๆ ทำให้ซึมเข้าไปในกระแสเลือดพอสมควร ทำไมเขาจึงต้องให้หน่วยงานภาครัฐใช้ PMQA ง่ายๆคือทุกองค์กรต้องการให้องค์กรของตนเองเป็นองค์กรที่ได้มาตรฐานสากล การจะบอกว่าได้หรือไม่ก็ต้องมีเกณฑ์คุณภาพที่เขายอมรับมาวัด แล้วเกณฑ์อะไรที่เขาใช้วัดในระบบราชการ?

เกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award: PMQA)
เป็นกรอบการบริหารจัดการองค์การ ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการนำไปใช้ในการประเมินองค์การด้วยตนเองที่ครอบคลุมภาพรวมในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นให้หน่วยงานราชการปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้าน และอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั้ง 7 ด้าน (หมวด)     โดยมีจุดมุ่งเน้นที่สำคัญคือ การนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์มีความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญกับประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว พัฒนาการบริหารคนและการพัฒนาคน มีความคิดริเริ่มและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลสารสนเทศ และทำงานโดยมุ่งผลลัพธ์เป็นสำคัญ (ประโยชน์สุขของประชาชน)

องค์ประกอบของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
สาระสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ จะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนหลัก โดยจะขยายความผ่านคำถามที่กำหนดไว้ให้ส่วนราชการประเมินสถานภาพของตนเอง คือ

ส่วนที่๑ ลักษณะสำคัญขององค์กร เป็นการอธิบายถึงภาพรวมของส่วนราชการ สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน (ข้อมูลพื้นฐานหน่วยงาน) ความสัมพันธ์กับผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้อง (ประชาชน ส่วนราชการ หน่วยงานภายนอก) สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการทำงานของส่วนราชการ ความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ที่กำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งระบบการปรับปรุงผลการดำเนินงานของส่วนราชการ (๑๕ คำถาม)

ส่วนที่๒ เกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดีของส่วนราชการที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น เน้นความสอดคล้องเชื่อมโยงและบูรณาการอย่างเป็นระบบ (ที่ค่อนข้างเข้าใจยาก) มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจประเมินการดำเนินการของส่วนราชการในประเด็นต่าง ๆ ตามหมวดของเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ทำให้เห็นโอกาสในการปรับปรุง (OFIs) กระบวนการของส่วนราชการ โดยใช้ปัจจัยประเมินกระบวนการตามหลัก ADLI อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่อไป ประกอบด้วย ๗ หมวด (๙๐ คำถาม) ได้แก่

หมวด ๑ การนำองค์กร (วางวิสัยทัศน์ ค่านิยม ทิศทางการทำงาน)
หมวด ๒ การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ (วางยุทธศาสตร์ การบริหารความเสี่ยง
การถ่ายทอดเป้าหมายและตัวชี้วัดขององค์กรไปสู่หน่วยงาน/บุคคล (การนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ))
หมวด ๓ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้เสีย (การรับฟังความเห็นหรือมีส่วนร่วมจากประชาชน การปรับระบบให้บริการประชาชน การสำรวจความพึงพอใจ)
หมวด ๔ การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (การจัดการสารสนเทศ การจัดการความรู้)
หมวด ๕ การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล (ระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล : HRM และ HRD การปรับกระบวนทัศน์ ค่านิยม ทัศนคติ คุณธรรมจริยธรรม กระบวนการสร้างคุณค่า)
หมวด ๖ การจัดการกระบวนการ (การลดขั้นตอน การเปลี่ยนแปลงกระบวนงาน)
หมวด ๗ ผลลัพธ์การดำเนินการ (ผลการปฏิบัติงานตามมิติการประเมิน ๔ ด้าน)

ความเชื่อมโยงของเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐกับเครื่องมือของการบริหารจัดการภาครัฐที่ผ่านมา
การบริหารจัดการภาครัฐทั้ง ๗ หมวด ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐจะสัมพันธ์กับการดำเนินงานของภาครัฐหรือส่วนราชการที่ผ่านมาหลายเรื่องที่เราเรียกกันว่า เครื่องมือการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ และการดำเนินงานตามตัวชี้วัดของคำรับรองการปฏิบัติราชการ (โดยเฉพาะในมิติด้านการพัฒนาองค์กร) ซึ่งจะทำให้ส่วนราชการและข้าราชการมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบราชการที่ผ่านได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยจะเห็นว่า PMQA จะเป็นเบื้องหลังหรือพื้นฐานของกิจกรรม และกระบวนการบริหารจัดการที่รัฐบาลกำหนดให้ส่วนราชการได้ปฏิบัติในหลายปีที่ผ่านมา คือ

๑.หมวด ๑ การนำองค์กร การดำเนินการที่ผ่านมาส่วนราชการต่าง ๆ ได้มีการจัดทำวิสัยทัศน์ ค่านิยม เป้าประสงค์ เพื่อเป็นทิศทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน (SWOT Analysis) มากขึ้น
๒.หมวด ๒ การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ รัฐบาลได้จัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งส่วนราชการต่าง ๆ จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการ ๔ ปี และแผนปฏิบัติการประจำปี ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน รวมทั้งการถ่ายทอดตัวชี้วัดและเป้าหมายของระดับองค์กรสู่ระดับบุคคล นอกจากนี้ได้นำเทคนิคการบริหารความเสี่ยงเข้ามาใช้ควบคู่กับการบริหารเชิงยุทธศาสตร์
๓.หมวด ๓ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในปัจจุบันการดำเนินการในหมวด ๓ เป็นหมวดที่ส่วนราชการต่าง ๆ ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น มีช่องทางสำหรับรับฟังความคิดเห็นของผู้รับบริการหลายช่องทาง และหน่วยงานราชการ เน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อนำบริการให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น ทั้งเคาน์เตอร์บริการประชาชน ศูนย์บริการร่วม การจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีการนำผลสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการมากำหนดเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในมิติ ๒ คุณภาพการให้บริการ ในคำรับรองการปฏิบัติราชการอีกด้วย
๔.หมวด ๔ การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ การดำเนินการในหมวด ๔ เป็นสิ่งที่ส่วนราชการได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ทั้งการจัดการระบบสารสนเทศ และการจัดการความรู้ และเป็นส่วนที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ได้
๕.หมวด ๕ การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล ทุกส่วนราชการจะมีแผนแม่บทด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล การพัฒนาทรัพยากรบุคคล มีการวิเคราะห์สมรรถนะของบุคลากรที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี ๒๕๔๘ และ ๒๕๔๙ และการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม (I AM READY)
๖.หมวด ๖ การจัดการกระบวนการ ในหมวดนี้ส่วนราชการการดำเนินการไปแล้วในหลายเรื่อง เช่น การลดขั้นตอนและระยะเวลาในการปฏิบัติงานการจัดทำข้อเสนอ การเปลี่ยนแปลงด้านขั้นตอนและการปฏิบัติงาน ซึ่งได้นำไปสู่การปฏิบัติต่อเนื่องเป็นปีที่สามแล้ว
๗.หมวด ๗ ผลลัพธ์การดำเนินการ เป็นหมวดที่ส่วนราชการจะได้ตรวจสอบผลการดำเนินการว่าได้บรรลุผลตามเป้าหมายยุทธศาสตร์หรือไม่ ความพึงพอใจของผู้รับบริการเป็นอย่างไร ประสิทธิภาพการบริหารงานผลที่เกิดขึ้นตามตัวชี้วัดต่าง ๆ เป็นเช่นไร และผลการพัฒนาองค์กรเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นผลลัพธ์ตามมิติต่าง ๆ ของคำรับรองการปฏิบัติราชการ และตัวชี้วัดเชิงกระบวนการของแต่ละหน่วยงาน

ในส่วนของสคร.5 คงต้องหาวิธีทำอย่างไรให้ PMQA เนียนไปกับงานประจำ เพราะในปีนี้กรมได้ถ่ายทอดตัวชี้วัดในการนำ PMQA มาใช้ในโครงการแล้วแต่เริ่ม 1 โครงการก่อน และปีต่อๆไปจะเพิ่มโครงการขึ้นจนครบ 100 % ซึ่งก็น่าจะผลักดันค่อนข้างยาก คงต้องใช้เวลาและกลไกที่เหมาะสมขับเคลื่อน แต่การที่เริ่มทำ PMS อย่างจริงจัง ก็ทำให้มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการกำหนดค่าเป้าหมาย การถ่ายระดับตัวชี้วัด ผลการปฏิบัติงาน สมรรถนะบุคลากร ตลอดจนการนำ PMS ไปประกอบการพิจารณาความดีความชอบได้ชัดเจนมากขึ้น เป็นเป็นการวัดผลงานและสมรรถนะของคนทำงาน หากมีประสิทธิภาพก็จะส่งผลให้องค์กรบรรลุภารกิจและวิสัยทัศน์ เมื่อ PMQA ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพของภาคราชการ ก็มีความจำเป็นจะต้องพัฒนาให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างมีคุณภาพต่อไป

แสงธรรมส่องชีวิต

Image

          ผ่านการปฏิบัติธรรมมา ๒ วัน ๑ คืน(๒๓-๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕) ที่สำนักปฏิบัติธรรม”แสงธรรมส่องชีวิต” นำโดยรองผอ.พญ.ผลิน กมลวัฒน์ คณะที่ไปประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มต่างๆ, ผู้เกษียณ-พี่มาลัยวัลย์, น้องที่เคยทำงานที่สำนักงาน-กุ่ม,  ลูกของเจ้าหน้าที่-ลูกสาวจุ๋ม รวม ๒๖ คน เราเลยไปกันแบบครอบครัว บางคนก็ตื่นเต้นมากกับการไปครั้งแรก เตรียมเสื้อผ้าและของใช้ครบชุด ลงทุนเต็มที่-พี่เจ๊าะ เป็นการฝึกฝนขัดเกลาพัฒนาจิตใจ มีพระอจ. เทศน์สั่งสอนเป็นช่วงๆ ซึ่งก็ได้หลักธรรม และข้อคิดดีๆสำหรับนำมาใช้ในทางโลกมากทีเดียว ใช้ธรรมมะช่วยขัดเกลาจิตใจและยกระดับจิต ต้องยอมรับว่าแม้จะมีเวลาอันน้อยนิด แต่ก็คิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของชมรมจริยธรรมสคร.๕  ที่อื่นๆจะต้องเข้าปฏิบัติไม่น้อยกว่า ๓ วัน แต่ที่นี่ยอมให้ ๒ วัน ได้รับความเมตตาจากสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่มาปฏิบัติเป็นครั้งแรก เลยเลือกสถานที่ที่มีบรรยากาศดี สวยงาม และสะดวกสบายพอสมควร ต้องบอกว่าพบสถานที่แห่งนี้ในเว็บไซด์ แต่ก็มีน้องที่ทำงาน-แหม่ม(ลักลีน)แนะนำว่าญาติเคยไปมาก่อน บอกดีมาก ก็ไม่รู้สึกผิดหวังแต่อย่างใด พระอจ.ทุกรูปมีจริยวัตรที่งดงามเต็มไปด้วยความเมตตา มีการแยกสัดส่วนที่อยู่ของพระสงค์ และผู้มาปฏิบัติธรรมทั้งหญิง-ชาย อย่างเหมาะสม 

Image  Image

          วันแรกผ่านไปด้วยเวทนาล้วนๆ เพราะห่างจากการปฏิบัติมาค่อนข้างนาน และสังขารก็ไม่ค่อยอำนวย(ข้ออ้างอีกตามเคย) แต่ก็อดทนพากเพียรจนผ่านไปได้ และทุกคนก็ตั้งใจในการปฏิบัติเป็นอย่างดี พระคุณเจ้าที่สำนักและพระอจ. รวม ๖ รูป ได้นำสวดมนตร์ทำวัตรเช้า-เย็น มีพระอจ.ศรชัย จากมหาจุฬาราชวิทยาลัย ซึ่งท่านกำลังเรียนปริญญาโท มาเทศน์สอน ท่านเทศน์แบบร่วมสมัยสไตล์พระมหาสมปอง ได้ทั้งคติธรรมและความสนุกสนาน  เพราะท่านมีวิธีการสอนที่ไม่น่าเบื่อเรียกเสียงหัวเราะได้เป็นระยะๆ จากนั้นพระอจ.อีกองค์จะนำปฏิบัติ ซึ่งเป็นการฝึกความอดทนเป็นอย่างดี พระอจ.ให้เดินจงกรม และนั่งสมาธิ วันละ ๔ รอบตามปกติของวัดทั่วๆไป และก็ผ่านวันแรกไปด้วยเวทนาล้วนๆ

Image    Image

            วันที่ ๒ ตื่นประมาณตี ๔ ทำวัตรตี ๔ ครึ่ง หมอน้องรู้สึกตัวเป็นคนแรก แล้วก็ทยอยลุกกัน พอขึ้นศาลาหลังทำวัตรเช้าพระอจ.ให้ทำโยคะก่อนเทศน์สอน จากนั้นลงมาเดินจงกรมที่ด้านหน้าศาลาปฏิบัติ อากาศดีมาก เย็นสบายไม่ร้อนเหมือนตอนกลางวัน เดินเท้าเปล่ารอบๆสวน รู้สึกสงบสบายอย่างบอกไม่ถูก น่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง จากนั้นไปทานข้าวที่โรงอาหาร ซึ่งพระอจ.ศรชัยก็ได้สอนหลายอย่าง ตั้งแต่การกราบพระ การทานอาหารอย่างสำรวม จากนั้นพระสงค์ทุกรูปจะเดินรับบินทบาตร และให้ทานอาหาร โดยพระอจ.จะอยู่คอยดูแลพูดคุยไปด้วย ทานเสร็จทุกคนก็ต้องล้างชาม-ช้อนเอง พักผ่อนจนถึง ๙ โมง ก็ขึ้นศาลาปฏิบัติธรรมต่อถึง ๑๑ โมง จากนั้นลงไปทานอีกมื้อ แล้วมาปฏิบัติครั้งสุดท้ายตอนบ่ายโมงจนถึงเกือบบ่าย ๓ โมง ท้ายสุดพระอจ.ให้ตัวแทนบอกว่าได้อะไรจากการมาปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ สรุปก็ได้วิธีปฏิบัติ, หลักธรรมและคติธรรม, ฝึกความอดทนกับสิ่งที่ไม่เคยทำและไม่คิดว่าจะทำได้, ชอบสถานที่ และบางคนบอกจะมาอีก โดยส่วนตัวแล้วปฏิบัติมาแล้วหลายครั้งหลายที่ ก็ชอบทุกที่ เพราะไปกลับมาแล้วจะรู้สึกดีทุกครั้ง เหมือนไปชาร์จแบ็ตให้ตัวเอง ทำให้มีจิตใจที่เข็มแข็งมากขึ้น เพิ่มภูมิต้านทานในการใช้ชีวิต และเข้าใจชีวิตมากขึ้น พร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง ถูกธรรม โดยไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น มีหลักยึด(หลักธรรม) ที่ดีพอเพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว และองค์กร จะได้มากหรือน้อยคิดว่าขึ้นอยู่กับตัวเอง เพราะการปฏิบัติเราต้องเสาะแสวงหาเอาเองว่าแบบไหนถูกจริตกับตัวเอง แต่โดยหลักแล้วทุกแห่งก็สอนให้คนเป็นคนดีตามหลักศาสนาทั้งนั้นแต่วิธีการแตกต่างกันไป ถ้าปฏิบัติแล้วมีการพัฒนาก็สามารถถึงความหลุดพ้น(วิมุตติ) ได้ นั่นคือนิพพาน แต่ผู้เขียนน่าจะห่างไกลอีกหลายภพหลายชาติแต่ก็คิดว่ามาถูกทางแล้วและเป็นหนทางไปสู่สุคติในสัมปรายภพแน่นอน

Image    Image

ขอบุญกุศลในครั้งนี้จงส่งผลให้ญาติธรรมทุกๆท่านมีแต่ความสุขกาย สุขใจ ปรารถนาสิ่งใดในทางที่ชอบประกอบด้วยธรรมก็ขอให้สำเร็จสมความมุ่งหมายปรารถนาทุกประการ และเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป สาธุ สาธุ สาธุ

เก็บมาฝาก

ปุจฉา “เวลาใดที่สำคัญที่สุด” วิสัจนา “เวลา ณ ตอนนี้”

ปุจฉา “ใครที่สำคัญที่สุด” วิสัจนา “คนที่อยู่ข้างหน้า”

ดังนั้น ให้ทำดีที่สุดกับทุกคน ในทุกเวลา

คำสอนพระอ.จ.ศรชัย วัดสระเกศ กทม.

ฺBlog PMQA Talk (เดิม)

Blog PMQA Talk (เดิม) : http://pmqatalk.blogspot.com/